วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วันขึ้นปีใหม่








ความหมาย
ปีใหม่ เป็นเรื่องของวันเดือนหมุนเวียนมาบรรจบครบรอบ ๓๖๕ วัน๑ หรือ ๑๒ เดือน ซึ่งสมมติกันว่า ปีหนึ่งหมดไป ขึ้นวันเดือนใหม่ของอีกปีหนึ่ง ก็เรียกกันว่าปีใหม่ แล้วเปลี่ยนนักษัตรประจำปีใหม่เป็น ชวด ฉลู ขาล เถาะ เป็นต้น และเปลี่ยนพุทธศักราช (พ.ศ.) ใหม่

ความเป็นมา

ประเพณีปีใหม่ของไทยในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ตอนต้นถือวันทางจันทรคติขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในพระราชพิธีสิบสองเดือนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความว่าพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่า ในกฎมนเทียรบาลมีการสมโภชและเลี้ยงลูกขุน ซึ่งตรงกับการเลี้ยงโต๊ะอย่างฝรั่ง จึงทรงกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นเวลาเช้ามีการพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำเชิญพระสยามเทวาธิราชและเชิญเจว็ดรูป พระภูมิเจ้าที่จากหอแก้วออกมาตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตั้งเครื่องสังเวยที่พื้นชาลาหน้ามุขเด็จตั้งพระราชอาสน์ที่ประทับ ณ ศาลาคด มีละครหลวงแสดงและตั้งโต๊ะพระราชทานเลี้ยง

ครั้งต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นทางสุริยคติ ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่๒ และโปรดให้ใช้รัตนโกสินทรศกในการนับปี ตั้งแต่ ร.ศ.๑๐๘ เป็นต้นมา สำหรับพระราชพิธีปีใหม่นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินที่ประทับที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรละครหลวง แล้วเสด็จฯ กลับ

ส่วนวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในรัชกาลที่ ๔ นั้นกำหนดเป็นพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ตลอดมาจนทุกวันนี้

ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทรศก ตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๕๕๓ และต่อมาใน พุทธศักราช ๒๔๕๖๔ โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เข้าด้วยกันเรียกว่าพระราชพิธีตรุษสงกรานต์เริ่มการพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน

การพระราชพิธีในวันที่ ๒๘ มีนาคม เลี้ยงพระ อ่านประกาศสังเวยเทวดา สวดอาฎาภาณวารในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ ๒๙ มีนาคม เลี้ยงพระ อ่านประกาศสังเวยเทวดา สวดอาฎานาฏยสูตร ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค วันที่ ๓๐ มีนาคม พระราชทานพระมหาสังข์

วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธปฏิมากรที่พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรภายในท้องพระโรง

เวลา ๗ นาฬิกา เสด็จฯ ลงยังสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยแล้วทรงบาตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยจัดเป็นสายๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ๕๐ รูป นอกนั้นสายละ ๒๕ รูป รวมพระสงฆ์ ๓๐๐ รูป เสร็จแล้วเสด็จฯ ขึ้น งานนี้แต่งเครื่องแบบปรกติขาว งานนี้มีสังข์ แตร ปี่พาทย์ ประโคม บรรเลงตั้งแต่เสด็จทรงจุดเทียนจนเสด็จขึ้น

วันนี้ เวลา ๙ นาฬิกา ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวังจะได้จัดที่สำหรับลงพระนามและนามถวายพระพรไว้ที่พระบรมมหาราชวัง

ครั้ง พุทธศักราช ๒๕๐๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม๕ ซึ่งเป็นวันสิ้นปี

ต่อมา  ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นงานส่วนพระองค์ ณ พระราชฐานที่ประทับ


                                      


เผลอแป๊บเดียว …ปีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่ก็ย้อนกลับมาอีกครั้ง หลาย ๆ คนคงชอบที่จะได้หยุดหลาย ๆ วัน ว่าแต่ที่หยุดและฉลองปีใหม่กันอยู่ทุกปีเนี่ย รู้หรือเปล่าว่ามันมีที่มาอย่างไร ถ้าไม่รู้ต้องลองอ่านนี่เลย

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่


          ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี

          ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน เมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

          และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

          แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา


ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย
          สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ.2432 (ร.ศ.108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ
"วันตรุษสงกรานต์"


                                

เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม          ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเหตุผลสำคัญก็คือ

           เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

           เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ

           ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

           เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก




เพลงวันปีใหม่
          แน่นอนว่า เพลงที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ก็คือ "เพลงพรปีใหม่" ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีพระราชประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยเป็นครั้งแรกในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 โดยเพลงพรปีใหม่ มีเนื้อร้องดังนี้

          เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
          
                ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
                คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

               
สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
                ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
                ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
                โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

                ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
                ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
                ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
                ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ
ประวัติการส่ง ส.ค.ส.ในวันปีใหม่          การส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ "บัตรเยี่ยม" (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่าง ๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

          สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

          ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า "ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่าง ๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน"

          ต่อมาในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ความนิยมการส่งบัตรอวยพรแพร่หลายอย่างมาก มีหลักฐานบัตรอวยพรประเภทต่างๆ ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นจำนวนมาก โดยมักนิยมส่งกันในช่วงเดือนเมษายน ตามวันขึ้นปีใหม่เดิมที่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน และบนบัตรอวยพรเหล่านั้น ยังพบคำว่า "ส.ค.ศ" หรือ "ส.ค.ส" ปรากฎอยู่ จึงเชื่อกันว่า คำว่า "ส.ค.ส" เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ โดยย่อมาจากคำว่า "ส่งความศุข" หรือ "ส่งความสุข"
          หลังจากนั้น ส.ค.ส ก็เป็นสิ่งที่นิยมส่งให้กันในวันขึ้นปีใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ และ ส.ค.ส. ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปมีการนำวัสดุต่าง ๆ มาประดิษฐ์ ตกแต่ง มีรูปแบบ ลวดลายหลากหลายมากขึ้น
           
ส.ค.ส พระราชทาน          ทุก ๆ ปี พสกนิกรจะเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่าน ส.ค.ส พระราชทานซึ่ง ส.ค.ส พระราชทานนี้ พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดยปีแรกที่พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส คือ ปี ส.ค.ส พระราชทานสำหรับปี พ.ศ.2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานให้แก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร
                           

วันคริสมาสต์

 ถึงช่วงปลายปีทีไร ชาวไทยเราก็มีเรื่องฉลองอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่หรือวันคริสต์มาสที่กำลังจะเข้ามาถึง แม้ว่าวันคริสต์มาสนี่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธสักเท่าไร แต่พี่ไทยซะอย่าง ฉลองได้ทุกเทศกาลอยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะไปฉลองกัน ลองมารู้จักกับวันคริสต์มาสก่อนดีไหม

ตำนานวันคริสต์มาส

          คำว่า "คริสต์มาส" เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Christmas มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า "บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า" ซึ่งพบครั้งแรกในเอกสารโบราณที่เป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1038 และในปัจจุบันคำนี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas

          เทศกาล Christmas หรือ X’Mas ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งวันที่ 25 ธันวาคมนั้นเป็นวันประสูติของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ โดยพระองค์ประสูติที่เมืองเบ็ธเลเฮ็มและเติบโตที่เมืองนาซาเรท ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล ตามหลักฐานในพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งอาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร

           ด้านนักประวัติศาสตร์ก็มีความเห็นที่ต่างออกไปโดยได้วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยะเทพ ตั้งแต่ปี ค.ศ.274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่า เป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูซึ่งเปรียบเสมือนความสว่างของโลก และเหมือนดวงจันทร์เป็นความสว่างในตอนกลางคืนแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ.330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย

          เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู และเป็นการฉลองความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์โลก โดยส่งบุตรชาย คือ "พระเยซู" ลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อช่วยไถ่บาป และช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากการทำชั่วนั่นเอง ดังนั้นในวันนี้ถือเป็นวันที่มีความหมายสำคัญชาวคริสต์ทั่วโลก และมีการส่งบัตรอวยพร ให้ของขวัญ แก่กันและกัน รวมทั้งประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนด้วยแสงไฟ และต้นคริสต์มาสอย่างสวยงาม



องค์ประกอบในงานคริสต์มาส

 ซานตาครอส
เป็นสิ่งแรกๆ ที่คนจะนึกถึงในฐานะสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส ซึ่งว่ากันว่าซานตาคลอสคนแรก คือ นักบุญ (เซนต์) นิโคลัส ผู้เป็นสังฆราชแห่งเมืองไมรา มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 4 และเหตุที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นซานตาครอสคนแรก มาจากวันหนึ่งที่ท่านปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านของเด็กหญิงยากจนคนหนึ่ง แล้วทิ้งถุงเงินลงไปทางปล่องไฟ บังเอิญถุงเงินหล่นไปทางถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้ข้างเตา         ผิงพอดี
                    นักบุญนิโคลัส นั้นเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือว่าเป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ของเด็กๆ เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ ก็ยังรักษาประเพณีการฉลองนักบุญ นิโคลาส ในวันที่ 5 ธันวาคม เอาไว้ ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆ และเอาของขวัญมาให้เด็กอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมา ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในอเมริกา โดยมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คือ ชื่อนักบุญนิโคลัสก็เปลี่ยนเป็น ซานตาคลอส และแทนที่จะเป็นสังฆราชก็กลายเป็นชายแก่ที่อ้วนและใส่ชุดสีแดง อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ มีเลื่อนเป็นยานพาหนะที่มีกวางเรนเดียร์ลาก และจะมาเยี่ยมเด็กทุกคนในโลกนี้ในโอกาสคริสต์มาส โดยลงมาทางปล่องไฟของบ้านเพื่อเอาของขวัญมาให้เด็กเหล่านั้นตามความประพฤติของเขา

          ถึงแม้ซานตาคลอสจะเป็นเพียงตำนานที่เกิดขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสก็ตาม แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่รวมเอาวิญญาณและความหมายของคริสต์มาสไว้อย่างมากมาย อาทิ ความปิติยินดีชื่นชม ความโอบอ้อมอารี ความรัก และความเป็นกันเอง

 ถุงเท้า           จากที่นักบุญนิโคลัสได้ปีนขึ้นไปบนปล่องไฟของบ้านเด็กหญิงยากจน เพื่อที่จะมอบเหรียญเงินให้เป็นของขวัญ แต่เหรียญนั้นกลับตกไปอยู่ในถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้หน้าเตาผิง พอรุ่งเช้าเด็กหญิงตื่นมาเจอเหรียญเงินในถุงเท้าจึงดีใจมาก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ผู้คนมากมายต่างพากันแขวนถุงเท้าคริสต์มาสไว้ เพื่อหวังจะได้รับของขวัญเช่นเดียวกันบ้าง

 


 ต้นคริสต์มาส
          นอกจากนี้อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือ ต้นคริสต์มาส ซึ่งต้นคริสต์มาสก็คือต้นสนที่นำมาประดับประดาด้วยลูกแอปเปิ้ลและขนมปังเพื่อระลึกถึงศีลมหาสนิท และก็ได้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยจนมาถึงการประดับด้วยดวงไฟหลากสีสัน ขนม และของขวัญ อย่างในทุกวันนี้ การตกแต่งแบบนี้ต้องย้อนไปในศตวรรษที่ 8 เมื่อเซนต์บอนิเฟส มิชชันนารีชาวอังกฤษที่เดินทางไปประกาศเรื่องพระเจ้าในเยอรมนี ได้ช่วยเด็กที่กำลังจะถูกฆ่าเป็นเครื่องสังเวยบูชาที่ใต้ต้นโอ๊ก
          โดยเมื่อโค่นต้นโอ๊กทิ้งก็ได้พบต้นสนเล็กๆ ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ที่โคนต้นโอ๊ก ท่านจึงขุดให้คนที่ร่วมพิธีกรรมเหล่านั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และตั้งชื่อว่า ต้นกุมารพระคริสต์ ต่อมา มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำคริสตจักรชาวเยอรมัน ตัดต้นสนไปตั้งในบ้านในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1540 หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 19 ต้นคริสต์มาสจึงเริ่มแพร่ไปสู่ประเทศอังกฤษและทั่วโลก และอีกเหตุผลที่ใช้ต้นสนก็เพราะว่ามันหาง่าย

          ในสมัยโบราณนั้นต้นคริสต์มาส หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน และทำบาป ไม่เชื่อฟังพระเจ้า โดยตามพระคัมภีร์นั้นได้เปรียบพระเยซูเจ้าเสมือนเป็นต้นไม้แห่งชีวิต ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เขียวเสมอในทุกฤดูกาล สื่อถึงนิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า อีกทั้งความสว่างของพระองค์ยังเหมือนแสงเทียนที่ส่องสว่างในความมืด และรวมถึงความชื่นชมยินดี และความสามัคคี ที่พระเยซูประทานให้ เพราะต้นไม้นั้นเป็นจุดศูนย์รวมของครอบครัวในเทศกาลคริสต์มาส


 ต้นฮอลลี่

          ต้นฮอลลี่ เป็นต้นไม้พุ่มเตี้ย และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส เชื่อกันว่า สีเขียวของต้นฮอลลี่มีความหมายถึง การมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ และมีความสัมพันธ์กับพระเยซู โดยผลสีแดงของต้นฮอลลี่นั้นหมายถึงหยดเลือดของพระเยซูที่ไหลลงบนไม้กางเขน ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความรักที่มีต่อพระเจ้า ใบไม้ที่มีหนามของต้นฮอลลี่เป็นสิ่งที่เตือนพวกเราถึงมงกุฏหนามที่พวกชาวทหารโรมันได้นำมาวางไว้บนศีรษะของพระเยซูคริสต์


 ดอกไม้คริสต์มาส หรือ Poinsettia
          ตำนานของดอก Poinsettia ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของวันคริสต์มาส มาจากเรื่องราวของเด็กหญิงจนๆ คนหนึ่ง ที่ต้องการหาของขวัญไปมอบให้พระแม่มารีในวันคริสต์มาสอีฟ แต่เนื่องจากเธอไม่มีสิ่งของใดๆ ติดตัว จึงเดินทางไปตัวเปล่า และระหว่างทางเธอได้พบกับนางฟ้าที่บอกให้เธอเก็บเมล็ดพืชไว้ ต่อมาเมล็ดพืชนั้นกลับเจริญเติบโตเปลี่ยนเป็นดอกไม้สีเลือดหมูสดใส ซึ่งก็คือดอก Poinsettia ตั้งแต่นั้นดอก Poinsettia ก็ได้รับความนิยมใช้ประดับประดาบ้านในงานคริสต์มาส
 ดอกคริสต์มาส Christmas Rose
          มีต้นกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ ลักษณะเป็นดอกสีขาว และมักออกดอกในช่วงฤดูหนาว ตำนานของดอกคริสต์มาสนี้มีอยู่ว่า ในช่วงที่พระเยซูประสูติ มีผู้รอบรู้ 3 คน กับคนเลี้ยงแกะเดินทางมาพบพระเยซู ระหว่างทางพวกเขาพบกับ มาเดลอน เด็กหญิงที่เลี้ยงแกะคนหนึ่ง เมื่อเธอทราบว่าทั้งหมดเดินทางมาเพื่อมอบของขวัญให้พระเยซู มาเดลอนก็เสียใจที่ไม่มีของขวัญใดไปมอบให้พระเยซูบ้าง ก่อนที่นางฟ้าที่เฝ้ามองเธออยู่จะเกิดความเห็นใจจึงร่ายมนตร์เสกดอกไม้สีขาวน่ารักและมีสีชมพูอยู่ตรงปลายกลีบให้เธอ และดอกไม้นั้นคือ ดอกคริสต์มาสนั่นเอง

 เพลงวันคริสต์มาส          เพลงคริสต์มาสเริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 5 แต่งโดยพระสงฆ์และฆราวาส มีเนื้อร้องเป็นภาษาลาติน ลักษณะของเพลงเป็นแบบสง่า เน้นถึงความหมายของการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า แต่ในศตวรรษที่ 12 ได้มีการแต่งในท่วงทำนองที่ร่าเริงสนุกสนานมากขึ้น เริ่มจากประเทศอิตาลี โดยนักบุญฟรังซิส อัสซีซี และนักบวชคณะฟรังซิสกัน เป็นผู้สนับสนุน ให้มีเพลงคริสต์มาสแบบใหม่

          เพลงคริสตมาสแบบใหม่นี้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน เพราะมีท่วงทำนองที่ร่าเริงกว่า และเน้นถึงความชื่นชมยินดีในโอกาสคริสต์มาส เพลงเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาลาติน และภาษาพื้นเมือง เพลงหนึ่งที่แต่งในสมัยนั้น (แต่งคำร้องในปี ค.ศ.1274) และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน คือ เพลง Oh Come, All Ye Faithful หรือ Adeste Fideles ในภาษาลาติน เพลงคริสต์มาสที่นิยมร้องมากที่สุดในปัจจุบันได้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศเยอรมัน และประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ เพลง Silent Night, Holy Night

          ความเป็นมาของเพลงนี้มาจากวันก่อนวันฉลองคริสต์มาส ของปี ค.ศ.1818 คุณพ่อโจเซฟ โมห์ (Joseph Mohr) เจ้าอาวาสวัดที่โอเบิร์นดอฟ (Oberndorf) ประเทศออสเตรีย ได้ข่าวว่าออร์แกนในวัดเสีย ทำให้วงขับร้องไม่สามารถร้องเพลงตามที่ซ้อมไว้ได้ จึงมีการแต่งเพลงคริสต์มาสใหม่ นำไปให้เพื่อนชื่อ ฟรานซ์ กรูเบอร์ (Franz Gruber) ใส่ทำนองในคืนวันที่ 24 นั่นเอง และเล่นเพลง Silent Night เป็นครั้งแรก โดยมีการเล่นกีตาร์ประกอบการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก
 คำอวยพรวันคริสต์มาส
          ในวันคริสต์มาสเรามักจะใช้คำอวยพรให้แก่กันและกันว่า Merry X'mas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า "สันติสุขและความสงบทางใจ" คำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรขอให้เขาได้รับสันติสุขและความสงบทางใจ และได้จัดให้มีการฉลองเพื่อระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซู ที่เขายกย่องเหมือนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก ผู้ทรงเกียรติเลอเลิศ ประเพณีนี้ได้เริ่มมาจากรุงโรมในศตวรรษที่ 4 และค่อยๆ เผยแพร่ไปทุกทวีป


 

วันรัฐธรรมนูญ

                            10 ธันวาคม ''วันรัฐธรรมนูญ''

เวียนบรรจบครบอีกครั้ง กับวันสำคัญทางการเมืองของประเทศไทย  วันที่ประชาชนชาวไทยมีความภาคภูมิใจ บนเอกราชและอนาธิปไตยของประเทศ  วันที่สยามประเทศ มีกฎหมายที่เป็นหลักยึดในการปกครองบ้านเมือง อย่างเป็นทางการ เทียบเท่าอารยประเทศ วันที่ว่านั่นก็คือ วันรัฐธรรมนูญ  ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2554 และนับเป็นอีกหนึ่งวันหยุดยาวที่หลายๆคนตั้งตารอคอย  และในปีนี้ยังมีวันหยุดชดเชยต่อเนื่องยาวถึง 3 วันกันเลยทีเดียว  นอกจากจะได้หยุดเรียน หยุดงาน อยู่บ้าน หรือไปเที่ยวกันแล้ว  ก็ต้องตระหนักถึงความสำคัญและที่มาของวันหยุดนี้กันด้วยนะคะ วันรัฐธรรมนูญมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เราศึกษาไปพร้อมๆกันเลยค่ะ
 
 UploadImage

10 ธันวาคม ''วันรัฐธรรมนูญ''
      วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกคล้ายวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนชาวไทย

ความเป็นมา


      การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

      1. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย
      2. หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ซึ่งได้ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยการปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการเป็นอย่างมาก
      3. อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
      4. รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร

      จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ

      วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
      1. พระมหากษัตริย์
      2. สภาผู้แทนราษฎร
      3. คณะกรรมการราษฎร
      4. ศาล

      ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

      กระทั่งถึง วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์นั้นได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

      รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนด วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ

 

UploadImage

บทความวันพ่อแห่งชาติ

วันพ่อแห่งชาติ (5 ธันวาคม) ประวัติวันพ่อแห่งชาติ

วันพ่อแห่งชาติ (5 ธันวาคม) ประวัติวันพ่อแห่งชาติ
วันพ่อแห่งชาติ5 ธันวาคม ของทุกปี

วันพ่อแห่งชาติ

ความเป็นมาของ วันพ่อแห่งชาติ
วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม
หลักการและเหตุผลในการจัดตั้ง วันพ่อแห่งชาติโดยที่พ่อเป็นผู้มีพระคุณมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและ สังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น วันพ่อแห่งชาติ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดาทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบันรวมทั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ เรืออากาศเอกวีรยุทธ ดิษยศริน พระสวามีในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์วลัยลักษณ์และพระเจ้าหลาน เธอทุกพระองค์ ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น พ่อ ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรวงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้ ดังบทร้อยกรองเทิดพระเกียรติว่า
?อันราชาเลี้ยงรักษาซึ่งทวยราษฎร์ ประดุจเป็นปิตุราชอยู่ทุกเมื่อ
ควรที่บุตรสุดรักจักจุนเจือพระคุณนั้นให้อะเคื้อด้วยภักดี
และอีกบทหนึ่งเทิดพระเกียรติว่า
ทุกบุปผามาลัยคือใจราษฎร์ ภักดีบาทองค์บพิตรเป็นนิจสิน
พระคือบิดาข้าแผ่นดิน ร่วมร้อยรินมาลัยถวายพระพร
ลุ 5 ธันวามหาราช  วันพ่อแห่งชาติ คือองค์อดิเรก
พระเปี่ยมล้นด้วยเมตตาเอื้ออาทร พสกนิกรเป็นสุขทุกคืนวัน
ซึ่งนอกจากพระองค์จะเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงทะนุบำรุงพระราชโอรสธิดาด้วยความรัก และทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น พ่อแห่งชาติ ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้วัฒนาถาวรสืบไป
ดอกพุทธรักษา สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติ
คณะกรรมการจัดงานวันพ่อแห่งชาติได้กำหนดให้ดอกพุทธรักษาดอกไม้ที่มีนามเป็นมงคลนี้เป็นสัญลักษณ์

วันพ่อแห่งชาติ

วัตถุประสงค์ของการจัดวันพ่อแห่งชาติ
1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. เพื่อเทิดทูนพระณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
3. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูต่อพ่อ
4. เพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
กิจกรรมที่ควรปฎิบัติในวันพ่อแห่งชาติ
1. ประดับธงชาติที่อาคารบ้านเรือน
2. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญประโยชน์หรือทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศลและระลึกถึงพระคุณพ่อ
3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมยกย่องผู้ที่ สมควร ได้รับการยกย่องว่าเป็นพ่อ ตัวอย่าง
สำหรับคุณสมบัติของพ่อตัวอย่าง คณะกรรมการได้กำหนดไว้ดังนี้
1. มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป
2. ส่งเสริมการศึกษาแกบุตรและธิดา
3. นับถือศาสนาโดยเคร่งครัด
4. งดเว้นอบายมุขทุกชนิด
5. อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน
6. มีภรรยาเพียงคนเดียว
หน้าที่ของบิดา มารดาพึงมีต่อบุตร
  • ห้ามมิให้ทำความชั่ว – ป้องกัน, ห้ามปราม มิให้ประพฤติเสียหาย
  • ให้ตั้งอยู่ในความดี – ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม วัฒนธรรมประเพณี และกฎหมายบ้านเมือง
  • ให้ศึกษาศิลปวิทยา – ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาทั้งคดีโลก และคดีธรรม
  • หาคู่ครองที่สมควรให้ – เลือกคู่ครองที่คู่ควร, เหมาะสมให้ในเวลาอันเหมาะสม
  • มอบทรัพย์สมบัติให้ดูแลเมื่อถึงเวลาอันสมควร – มอบภาระหน้าที่การงานให้บริหาร และมอบมรดกให้ครอบครอง
หน้าที่ของบุตรพึงมีต่อบิดามารดา
  • เลี้ยงดูบิดามารดาเป็นการตอบแทน – เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าอย่าปล่อยให้ท่านอดรันทดใจในวัยชรา
  • ช่วยทำกิจการงานของท่าน – ไม่นิ่งดูดายเป็นคนไร้น้ำใจเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่
  • ดำรงวงศ์ตระกูล – ไม่ทำตระกูลให้เสื่อมและเสียหาย
  • ประพฤติตนให้สมควรได้รับทรัพย์มรดก – ประพฤติตนให้ท่านไว้ใจและวางใจ ที่จะครอบครองสมบัติ
  • ท่านเจ็บป่วยต้องรักษา ท่านมรณาต้องทำศพให้ – ทำความปรารถนาของพ่อแม่มิให้พังทลาย
วันที่ 5 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้ เป็น วันชาติของไทย อีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เทศกาลลอยกระทง


  




ใกล้ถึงเทศกาลวันลอยกระทง 2555 กันแล้ว ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน …เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมตัวควงหวานใจ หรือพาครอบครัวไปลอยกระทงร่วมกันที่ใดที่หนึ่งแล้ว อ๊ะ ๆ ...แต่ก่อนที่จะไปลอยกระทงกันนั้น เรามาทำความรู้จักประเพณีลอยกระทงให้ถ่องแท้กันก่อนดีกว่าค่ะ จะได้เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของประเพณีอย่างแท้จริง
กำหนดวันลอยกระทง

          วันลอยกระทงของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขี้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่ดูงดงามเหมาะแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง

ประวัติความเป็นมาของวันลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน

          ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
          ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฎในหนังสือนางนพมาศที่ว่า

          "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้ป็นลวดลาย..."

          เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย

เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง
          สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่ 

          1.เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด

          2.เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทท

          3.เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

          4.เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้ 

          5.เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

          6.เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน

          7.เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญหาพื้นบ้านไว้อีกด้วย





รูปภาพ วันลอยกระทง มาดู รูปกระทงสวยๆ ในงาน ลอยกระทง กัน

รูปภาพ วันลอยกระทง มาดู รูปกระทงสวยๆ ในงาน ลอยกระทง กัน

รูปภาพ วันลอยกระทง มาดู รูปกระทงสวยๆ ในงาน ลอยกระทง กัน

รูปภาพ วันลอยกระทง มาดู รูปกระทงสวยๆ ในงาน ลอยกระทง กัน